banner_UK

วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อะไรอยู่ในห้องน้ำ (บ้าง?)

คบเด็กสร้างบ้าน เป็นวลีอมตะมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และยังสามารถใช้ได้แม้ในภาวะปัจจุบันนี้นะครับ เพราะบ้าน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวในยุคไฮเทคว่าอยากจะมีซักหลัง จะแต่งให้สวย ให้เลิศสะแมนแตน แต่ในความเป็นจริง การสร้างบ้าน แต่งบ้าน หรือการคบเด็ก มันเป็นเรื่องปวดหัวพอๆกันจริงๆอย่างที่โบราณท่านกล่าวไว้ ในโอกาสแรกเริ่มทำความรู้จักกัน ผมขอเสนอไฮไลท์ของบ้านก่อนเลยละกันนะครับ นั่นก็คือ ส่วนของห้องน้ำ นั่นเอง
เหตุที่ผมให้ความสำคัญว่า ห้องน้ำเป็นพระเอกของบ้าน ก็เนื่องมาจาก ไม่ว่าจะเป็นเจ้าบ้านหรือแขกเหรื่อที่มาเยี่ยมเยียนบ้าน ห้องน้ำไม่ใช่เป็นแค่เพียงที่ระบายทุกข์อีกต่อไป หากแต่เป็นเสมือนห้องรับแขกที่เจ้าบ้านก็อยากอวด แขกที่มาบ้านก็อยากสำรวจ เพราะสามารถใช้ความเป็นส่วนตัวสำรวจความเป็นตัวตนหรือฐานะของเจ้าของบ้านเป็นอย่างดี ฉะนั้นในปัจจุบัน การพิถีพิถันในการตกแต่งห้องน้ำจึงเรื่องที่เจ้าของบ้านจะให้งบประมาณค่อนข้างสูง ซึ่งปกติแล้วจะอยู่ที่ 10% ของมูลค่าบ้าน หากแต่ปัจจุบันค่านิยมในเรื่องการรักษาภาพลักษณ์ของเจ้าของบ้านนั้นมีสูง อีกทั้งกิจการที่ผลิตสินค้าที่ใช้ตกแต่งในห้องน้ำก็ได้วางตำแหน่งผลิตภัณฑ์ที่เปลี่ยนไป จากแค่ความจำเป็นในเรื่องการบำบัดทุกข์ เพิ่มเป็นบำรุงสุขด้วย จากนั้นยังไม่พอ เสริมเรื่องสุนทรียแห่งการบำบัดด้วยออฟชั่นต่างๆ จนแทบลืมความจำเป็นพื้นฐานของห้องน้ำไปเลย
เอาล่ะครับพร่ามมาซะยาว ก่อนอื่นสำหรับท่านที่กำลังจะเลือกซื้อบ้านไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านสำเร็จรูป หรือบ้านโครงการที่กำลังสร้าง รวมถึงผู้ที่สร้างบ้านเองและผู้ที่กำลังตกแต่งห้องน้ำใหม่ ผมจะเริ่มแนะนำส่วนประกอบของห้องน้ำก่อนเลยนะครับ
อันดับแรกเลย คือ ประตูห้องน้ำ ครับ เพราะหลายท่านไม่ได้นึกถึงครับ มัวแต่สนใจสิ่งที่อยู่ในห้องน้ำแต่สิ่งที่เป็นปราการด่านแรก กลับไม่ได้ให้ความสำคัญ ซึ่งปราการด่านนี้ ถึงแม้ผู้มาเยือนบ้านเราจะไม่ได้สัมผัสภายในห้องน้ำ หากแต่เห็นแค่ประตูห้องน้ำก็สามารถประเมินภาพลักษณ์เจ้าของบ้านได้คร่าวๆ รวมถึงสามารถวิเคราะห์ไปถึงวัสดุภายในห้องน้ำได้ เฉกเช่นหน้าปกหนังสืออย่างไรอย่างนั้น ถ้าหน้าปกไม่น่าเชิญชวน ถึงเนื้อหาภายในจะดีเพียงใด ก็อาจถูกมองข้ามไป
อันดับสองคือ โถสุขภัณฑ์ ครับ เพราะเมื่อกล่าวถึงห้องน้ำ แน่นอนพระเอกของห้องน้ำต้องเป็นที่ระบายทุกข์ เมื่อบำบัดทุกข์ไปได้แล้ว จึงจะเริ่มมองหาสิ่งบำรุงสุขต่อไปในห้องน้ำ ซึ่งจะกล่าวคร่าวๆปูพื้นฐานเบื้องต้นไปก่อนนะครับว่า สุขภัณฑ์นั้น ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3-4 ชนิด ดังนี้
- โถนั่งยอง เด็กยุคใหม่อาจจะไม่ค่อยรู้จัก ภาษาช่างจะเรียกว่าหัวส้วม เนื่องจากสมัยก่อนจะเป็นส้วมซึม ก่อโดยใช้ท่อกลมแล้วปิดด้วยฝากลมมีรูตรงกลางเพื่อให้ใส่ตัวโถส้วมแบบนั่งยอง จึงเรียกว่า หัวส้วม ซึ่งจะมีสองแบบ คือ แบบมีฐาน และ ไม่มีฐาน ส่วนออฟชั่นเรื่องระบบชำระล้างแบบกดฟลัช หรือ ตักราด ไม่ขอกล่าวแบบแยกเป็นอีกประเภทละกันครับ
- โถชักโครก มีให้เห็นในยุคปัจจุบันกันเยอะมาก เนื่องจากเป็นนวตกรรมแก้ไขข้อบกพร่องจากการนั่งยอง ทำให้เกิดอาการเหน็บชา ซึ่งเกิดจากกรณีนั่งนาน หรือใช้กล้ามเนื้อขามาก นอกจากนี้ก็เป็นการเอาใจคนอ้วนหรือผู้ป่วยข้อกระดูกเข่า ซึ่งโถชักโครกจะทำให้นั่งสบายขึ้นโดยจะนั่งราบไปกับฝารองนั่งเหมือนนั่งเก้าอี้ การแบ่งประเภทโถชักโครก ก็แบ่งได้เป็น 3 แบบคือ แบบนั่งราบตักราด(ไม่มีถังน้ำกดชำระด้านหลัง) แบบมีถังพักแยก( 2 ส่วน ส่วนโถและส่วนถังน้ำ) แบบชิ้นเดียว คือ ตัวโถกับถังพักทำเป็นชิ้นเดียวกัน ส่วนแบบอื่นก็จะเพิ่มเป็นออฟชั่นกดทีเดียว กดสองระบบ(เบา/หนัก) หรือไม่ก็ปุ่มกดอยู่ข้าง อยู่หน้าถังพัก หรืออยู่บน
อันดับสาม คือ อ่างล้างหน้า ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ได้แบ่งประเภทกัน หากแต่ในการติดตั้ง ขึ้นอยู่กับการออกแบบและลูกเล่นของการวางตำแหน่งอ่างล้างหน้า จึงได้ทำการติดตั้งต้องวางแผนก่อน ผู้ผลิตจึงได้ยึดถือเกณฑ์การติดตั้งมาเป็นตัวแบ่ง ได้แก่ แบบแขวนผนัง แบบฝังเคาท์เตอร์ แบบฝังใต้เคาเตอร์ แบบวางบนเคาท์เตอร์ หลักๆก็มีเท่านี้ ที่เหลือก็เป็นดีไซน์
อันดับสี่ คือ โถปัสสาวะ ซึ่งปัจจุบันจะมีโถปัสสาวะหญิงด้วยเพื่อสะดวกในการทำธุระแบบเร่งรีบ รวมถึงเรื่องการประหยัดน้ำ เนื่องจากการปัสสาวะย่อมใช้น้ำชำระล้างน้อยกว่า การขับถ่ายแน่นอน ในที่นี้ไม่ขอกล่าวแยกเป็นประเภท ขึ้นอยู่ดีไซน์ที่ชอบเป็นหลัก
อันดับห้า ที่อาบน้ำ มีแบบนอนอาบในอ่างอาบน้ำ กับ ยืนอาบ ถ้าประเภทนอนอาบก็จะมีอ่างอาบน้ำให้เลือกหลากดีไซน์ แต่แบ่งได้ 3 ระบบ คือ อ่างธรรมดา อ่างมีระบบน้ำวน และอ่างสปา(มีระบบอัดอากาศ) ถ้าเป็นแบบยืนอาบ ก็จะเป็นการเน้นที่ ฝักบัวอาบน้ำ ซึ่งมีทั้งแบบ ธรรมดา และแบบเรนชาวเวอร์(เป็นจานกะทะใหญ่เหมือนฝนตก) ที่เหลือก็จะเป็นดีไซน์กับระบบการปรับแรงดันน้ำให้น้ำออกแบบรวมตัวหรือกระจาย สุดแล้วแต่
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เป็นแค่เพียงวัสดุประธาน หรือวัสดุหลักๆที่ต้องกำหนดให้ตายตัว เนื่องจากมีผลกับระบบการเดินท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดี รวมถึงระยะห่างจากกำแพงของการติดตั้งวัสดุแต่ละชิ้นก็ต้องประสานงานกับช่างที่ติดตั้งอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นแล้วไม่ช่างก่อสร้างก็เจ้าของบ้านนั่นล่ะที่ต้องลมออกหูเวลาติดตั้ง เพราะวัสดุประธานเหล่านี้ ท่านเจ้าของบ้านต้องเตรียมไดเมนชั่นหรือภาพวัสดุที่บ่งบอกถึงพิกัดขนาด รวมถึงเอกสารคู่มือการติดตั้งให้ช่างด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะดูแค่ดีไซน์สวย ชอบ อยากได้ ก็เลยซื้อมา ไม่ทันได้วางแผนกับช่างก่อสร้างไว้ก่อนว่า เดินท่อระบบสุขาภิบาลไว้รองรับกับวัสดุหลักไว้หรือไม่ เว้นแต่ เป็นกรณีที่ได้มีแบบก่อสร้างที่ตายตัวและระบุถึงรุ่นของวัสดุไว้แล้ว จึงจะสามารถเทียบเคียงกันได้ และจะเกิดข้อผิดพลาดในการติดตั้งค่อนข้างน้อย
เท่าที่กล่าวมานี้ ก็พอหอมปากหอมคอนะครับ รายละเอียดที่ลึกกว่านี้ สามารถขอได้ตามร้านขายวัสดุตกแต่งทั่วไปครับ โรงงานผู้ผลิตจะเตรียมเอกสารไว้ให้กับร้านค้าตัวแทนจำหน่ายแล้ว ท่านสามารถขอได้ฟรี ไม่จำเป็นว่าจะซื้อแล้วถึงจะขอได้ ถึงไม่ซื้อก็สามารถขอได้ครับ เพราะเป็นเอกสารของทางโรงงาน ร้านค้าไม่ได้มีค่าใช้จ่ายในการหาเอกสาร ในบทต่อไปจะกล่าวถึงวัสดุที่เป็นเพื่อนพระเอกนะครับ ต้องมาคู่กับพระเอก เพราะเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ทันได้นึกถึง สำหรับบทนี้ทักทายกันแต่เพียงเท่านั้นก่อนนะครับ อย่าเพิ่งปวดหัวไปซะก่อน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น